มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) ภัยร้ายของหญิงไทย

โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลกที่ทำให้สูญเสียชีวิตของประชากรและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในหญิงไทยรองจากโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เหมือนมะเร็งทั่วไป เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ เรื่องของยีน ซึ่งในคนที่มียีนที่เป็นมะเร็งเต้านมก็อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนอื่น

ลักษณะของกรรมพันธุ์ ประวัติของคนในครอบครัว หรือไม่ก็มีญาติเป็น ซึ่งญาติที่ดูว่าเราจะมีความเสี่ยง ในปัจจุบันเราสามารถที่จะตรวจสอบยีนได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีใครทำ

สาเหตุของโรค

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีมากเกินไป เช่น มีประจำเดือนเร็ว หรือหมดประจำเดือนช้า

คนที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก็จะมีความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเต้านม หรือกินฮอร์โมนเสริมบางอย่าง เช่น กินยาคุมมา 10 หรือ 20 ปี หรือมีประวัติทำเด็กหลอดแก้ว ใช้ฮอร์โมนมากๆ ก็จะเสี่ยงมากขึ้น หรือการใช้ฮอร์โมนในวัยทอง หมดประจำเดือนไปแล้ว แต่เราก็ยังใช้ฮอร์โมนอยู่ 
 
อีกอย่างหนึ่งก็คือ หญิงสาวที่ไม่มีลูก ไม่เคยตั้งครรภ์ ก็เหมือนกับว่าร่างกายได้รับเอสโตรเจน รอบเดือน ได้รับตลอดตั้งแต่อายุสิบกว่า ถึงห้าสิบ ไม่เคยหยุด ฮอร์โมนก็ออกมาจากรังไข่ของเราเอง

ซึ่งการตั้งครรภ์จะทำให้มีการพักของฮอร์โมน เพราะฉะนั้น คนที่เคยตั้งครรภ์ คนที่เคยให้นมลูก ก็จะลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ โดยเฉพาะมีลูกในอายุที่ไม่มากนัก เช่น ก่อน 35 ปี แต่ถ้ามีตอนอายุมากๆ ก็ไม่ต่างกัน 
 
สาเหตุอื่นๆ เช่น โดนรังสี เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งป้องกันได้ไม่มากนัก อย่างเคยฉายแสงที่เต้านมมาก่อน  หรือฉายแสงที่อื่นแต่โดนเต้านมด้วย เช่น ฉายปอด ก็อาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นนิดหนึ่ง

นอกจากนี้ อาจจะมีเรื่องของการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจจะเป็นได้

อาการ

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะมีอาการและอาการแสดงอย่างไรขึ้นกับระยะของโรค คือถ้าเป็นระยะเริ่มต้นมากๆ จะไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะตรวจค้นหาได้จากการทำเอกซเรย์เต้านม ซึ่งต่อมาก็จะเกิดก้อนแข็งที่เต้านมแต่ไม่เจ็บในบางรายอาจเห็นรอยบุ๋มของผิวหนัง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของหัวนมจากปกติมาเป็นหัวนมบอด

เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นตามกาลเวลาก็จะลุกลามกินทะลุผิวหนัง แตกเป็นแผลหรือมีการอักเสบของผิวหนัง อาจเห็นเป็นลักษณะเหมือนเปลือกผิวส้ม และอาจมีก้อนที่รักแร้โตในข้างเดียวกับก้อนมะเร็ง

ในบางรายอาจมีเลือดออกที่หัวนมซึ่งสาเหตุของเลือดออกที่หัวนมส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกในท่อน้ำนมที่ไม่ร้ายแรง และจะมีอีกส่วนน้อยที่มาด้วยแผลถลอกอักเสบเรื้อรังที่หัวนม ส่วนการเจ็บเต้านมเกือบทั้งหมดไม่ใช่จากมะเร็งเต้านม

Checklist อาการของมะเร็งเต้านม

  • มีก้อนที่เต้านม ( แค่ 15-20 % ของก้อนที่คลำได้เท่านั้นที่เป็นมะเร็ง)
  • มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม
  • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัวหนาผิดปกติ บางส่วนเป็นสะเก็ด
  • หัวนมมีการหดตัวนม คัน หรือแดงผิดปกติ
  • มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม ( 20 %ของการมีเลือดออกเป็นมะเร็ง)
  • เจ็บเต้านม ( มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว)
  • การบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

โดยทั่วไปมักมาโรงพยาบาลด้วยก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมที่มีลักษณะบ่งชี้  ไปในทางไม่ดีจะมีลักษณะดังนี้

  • โตเร็ว 
  • แข็งขอบไม่ชัด 
  • ติดแน่นกับเนื้อเยื่อรอบข้าง 
  • ที่ใกล้เต้านมบริเวณดังกล่าวบุ๋มลงไป หรือผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม 
  • มีหัวนมบุ๋มลงไป
  • มีเลือดออกทางหัวนม 
  • มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตร่วมด้วย

กลุ่มเสี่ยง

  1. มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว
  2. มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่า 50 ปี
  3. ไม่มีประวัติการตั้งครรภ์
  4. มีประวัติการใช้ฮอร์โมนเพศทดแทนเป็นเวลามากกว่า 5 ปี
  5. คนอ้วน
  6. เคยได้รับการฉายแสงที่หน้าอก
  7. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

การตรวจมะเร็งเต้านม

คุณทราบหรือไม่ว่า “ มะเร็งเต้านม “ เป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับที่สองรองจากมะเร็งปากมดลูก โรคร้ายนี้อาจเกิดขึ้นกับคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว ดังนั้นการตรวจเต้านมเป็นประจำสามารถช่วยชีวิตคุณได้ 

การตรวจมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ก็จะเน้นตรวจ 2 อย่าง คือ ตรวจด้วยมือ และตรวจด้วยเครื่อง

ภาพแพทย์ตรวจด้วยการคลำหน้าอก

คนอาจจะเข้าใจผิดว่า ตรวจด้วยเครื่องอย่างเดียวพอ ซึ่งจริงๆ แล้วการคลำโดยศัลยแพทย์ หรือโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะได้ประโยชน์ เพราะใช้เครื่องอย่างเดียว บางทีในคนที่เต้านมเล็กๆ ซึ่งมันเป็นเครื่องหนีบ เหมือนทำกล้วยปิ้ง ซึ่งในคนที่เต้านมเล็กๆ นมจะไม่ค่อยเข้าเครื่อง เข้าแต่ตรงหัวนม จะหวังพึ่งเครื่องมากในคนที่เต้านมเล็กๆ ก็จะไม่ค่อยได้ผล การใช้มือช่วยด้วย คลำที่ขอบ คือตัวมะเร็งจะมีลักษณะของมัน เช่น มันแข็ง มันติด เป็นก้อนบุ๋ม ซึ่งการใช้มือตรวจก็จะช่วยในการแยกแยะพวกนี้
 
เครื่องก็เป็นองค์ประกอบไว้ดู หรือไว้เพื่อยืนยันการวินิจฉัย สำหรับเครื่องเราก็จะมีดิจิตอลแมมโมแกรม การอัลตราซาวด์ แมมโมแกรมก็จะดูหินปูน ส่วนอัลตาซาวด์ก็จะดูลักษณะว่าวัดเซนติเมตรได้ แล้วก็ดูว่าถุงน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ใช้คู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self – Examination)

1. ยืนหน้ากระจก

  • ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบายเปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้าง มีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  • ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ
  • ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่า หรือเก้าอี้ในท่านี้ เต้านมจะห้อยลง ไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

2. นอนราบ 

  • นอนในท่าสบายแล้วสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ซ้าย

  • ยกแขนซ้ายเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก ซึ่งมีเนื้อมากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งมากที่สุด

  • ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางคลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่

วิธีคลำ

  1. ใช้มือซ้ายคลำเต้านมขวา มือขวาคลำเต้านมซ้าย
  2. ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง รวม 3 นิ้ว ในการคลำ กดเบาๆ และหนักพอประมาณเพื่อที่จะรับรู้ ว่ามีก้อนหรือไม่
  3. การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่ง ถึงฐานเต้านมบริเวณรอบรักแร้ หรือเริ่มต้นที่บริเวณหัวนม วนเป็นวงกลมไปรอบๆ จนรอบ เต้านม
  4. การคลำในแนวขึ้นลง เริ่มคลำจากใต้เต้านมถึงรักแร้ แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำขึ้นและลง สลับกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทั่วทั้งเต้านม
  5. การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานแล้วกลับเข้าขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ให้ทำวิธีเดียวกันกับเต้านมด้านขวา

ควรทำในทุกวัยเพื่อค้นพบสิ่งผิดปกติ

  • อายุ 20 ปี ขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง ในช่วงอายุนี้ไม่จำเป็นต้องทำแมมโมแกรม
  • อายุ 35 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมเป็นพื้นฐานและควรตรวจทุกๆ 2 ปี
  • อายุ 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม ทุกปี
  • อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
  • สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจต้องตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ

การป้องกัน

การป้องกัน สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่นอน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ค้นพบให้เร็วที่สุด ดังนั้นจึงควร

  • ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน
  • ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เดือนละครั้ง ( Breast Self-Examination )
  • ตรวจเอกซเรย์เต้านม ( Mammography )
  • พบแพทย์ ( Physical Examination )

การรักษา

ขั้นตอนการรักษานั้น คล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ อย่างแรกคือเราต้องเอาเซลล์นั้นออกไปก่อน ซึ่งการเอาออกก็ไม่ได้หมายถึงการเอาเต้านมออกทั้งเต้า คือหมายถึงเอามะเร็งออก ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายวิธีมากแต่วิธีมาตรฐานก็ยังคงเป็นแบบเดิมก็คือว่าเราต้องรู้ผลชิ้นเนื้อก่อน
ภาพถ่ายเอกซเรย์เต้านม

ไม่ว่าจะใช้เข็มเจาะ ดูดหรือตัดชิ้นเล็กๆ มาตรวจ ซึ่งถ้าเป็นมะเร็งจริงๆ มันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น ขึ้นอยู่กับอายุ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน ซึ่งถ้ายังเป็นไม่มาก เป็นน้อยๆ เป็นอยู่ห่างๆ และเต้านมยังดูดีอยู่ บางทีเราอาจจะไม่ต้องเอาเต้านมออกก็ได้ สามารถผ่าเอาแต่ตัวมะเร็งออกให้เกลี้ยง ร่วมกับการเช็คต่อมน้ำเหลือง และฉายแสงเต้านมที่เหลือ

แต่วิธีมาตรฐานคือ ถ้าเราไม่ได้สนใจมากนักหรือมะเร็งก้อนใหญ่หรือไม่อยากฉายแสง การเอาเต้านมออกก็ยังเป็นวิธีที่มาตรฐาน แต่บางคนก็ไม่อยากเสียเต้านม หรือปัจจุบันเราก็มีการศัลยกรรมที่เสริมสวยเต้านมขึ้นมา อาจจะใช้เนื้อเยื่อตัวเอง หรือใช้ถุงซิลิโคนเข้ามาช่วย ก็สามารถทำได้ ก็ต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่ยังไงก็ต้องเอาเซลล์มะเร็งออกไปก่อน ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งแล้วว่า จะใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย แล้วก็เรื่องของการใช้ฮอร์โมน ขึ้นอยู่กับชิ้นเนื้อที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักการก็คือ อันไหนใช้ได้และมีประโยชน์ต้องทำหมด ไม่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็ตาม

สำหรับคนที่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมเพียง 1 ข้าง และรักษาตามขั้นตอนแล้ว ต้องเช็คแมมโมแกรมเหมือนกัน เพราะว่ามีโอกาสเป็นซ้ำขึ้นมาได้ ก็เหมือนคนที่เคยเป็นก็อาจจะเป็นอีกได้ แต่ว่าถ้าเป็นก้อนเล็กๆ เซลล์คงตายไปตั้งแต่เคมีบำบัดแล้ว แต่เราก็ต้องเช็คอีกข้าง เพราะมีโอกาสเป็น 20-30% เหมือนกัน ต้องเช็คแมมโมแกรมทุกปีเหมือนเดิม ข้างเดิมเราก็ดูแลไป อาจจะเอกซเรย์ ทำอัลตราซาวด์ซ้ำ เหมือนตรวจมะเร็งทั่วไป ติดตามไปเรื่อยๆ

ระยะเวลาหลังจากผ่าตัด และทำเคมีบำบัด ส่วนใหญ่ทั้งหมดจะจบภายใน 6 เดือน เริ่มผ่าตัดเสร็จแล้ว ถ้าไม่ดีจริงๆ ต้องให้เคมีบำบัด บางคนก็ให้ทุก 3 อาทิตย์ 6 ครั้ง หลังจากนั้นก็ดูชิ้นเนื้อว่ามีตัวรับฮอร์โมนไหม ถ้ามี ก็เป็นเรื่องของฮอร์โมนที่เป็นยาเม็ด อีก 5 ปี หรือบางคนมีเรื่องของยีนก็จะมีตัวที่เกี่ยวกับ gene turn tool ที่เป็นตัวยีนอยู่บนเนื้องอก อันนี้อาจจะมีการฉีดยาเดือนละครั้ง 1 ปี ก็แล้วแต่ชนิดของเนื้องอก แต่ทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นเรื่องหลัง หลักๆ แล้วก็อยากจะให้เน้นเรื่องการตรวจเช็คประจำปี เพราะการพบในระยะแรกๆ จะสำคัญที่สุด เพราะการรักษาอาจมีเปลี่ยนทุกปี เดี๋ยวก็จะมียาใหม่มาเรื่อยๆ มีเคมีบำบัดตัวใหม่ๆ มีฮอร์โมนตัวใหม่ๆ รวมถึงตารางการรักษาก็ยังเปลี่ยนเรื่อยๆ

ต้องบอกก่อนว่า มะเร็งเต้านมอยู่ข้างนอก สามารถตัดออกไปได้ ทำให้เราตรวจง่าย เห็นชัด เมื่อเทียบกับมะเร็งตับ มะเร็งปอด ซึ่งอยู่ข้างในและไม่ค่อยมีอาการ ถ้ามีบางทีก็ลุกลามไประยะสุดท้าย มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ถ้าคุณผู้หญิงใส่ใจ คลำๆ ละเอียดๆ เดือนละครั้ง เห็นอะไรแปลกๆ รีบมาโรงพยาบาล จะสามารถทำนายโรคได้หลายๆ อย่าง ในระยะแรกๆ จะไม่เหมือนมะเร็งปากมดลูก และอีกส่วนหนึ่งก็คือ มะเร็งเต้านมการลุกลามมันก็จะเข้าต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มักจะเป็นทางของตัวมะเร็งเอง นั่นคือเวลาผ่า ก็จะผ่ามะเร็งเต้านมก่อน แล้วก็จะดูต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ว่าลุกลามไหม ไม่เหมือนมะเร็งตับ มะเร็งปอด พวกนั้นจะมีหลอดเลือดเยอะ  การลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงทำได้ง่ายมาก เช่น มะเร็งปอดอยู่ใกล้ขั้วต่อมน้ำเหลือง ใกล้ขั้วเส้นเลือดใหญ่ ใกล้หัวใจ เวลามันลามก็จะติดตรงนั้น แล้วก็จะลุกลามเร็วมาก มะเร็งเต้านมถ้าตรวจเจอในระยะแรกๆ แทบจะบอกได้เลยว่า หาย 100%

ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน ตอนอาบน้ำ หรือไม่ก็นอนคลำ โดยใช้มือฝั่งตรงข้ามคลำ ถ้าคลำแล้วเจออะไรแปลกๆ ก็ปรึกษาแพทย์ ควรเริ่มคลำตั้งแต่อายุ 20 กว่าก็ได้ ซึ่งก้อนส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา เหล่านี้ก็จะไม่มีความแข็ง กลิ้งไปกลิ้งมา มีโตๆ ยุบๆ ได้ นี่คือลักษณะของเนื้อปกติ หรือเนื้อดี แต่ถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะโตอย่างเดียว ไม่มียุบ แล้วก็แข็ง ขอบจะไม่ค่อยชัด จะติดๆ ไม่ค่อยกลิ้ง พวกนี้จะเป็นระยะเริ่มแรก แต่ถ้าเป็นท้ายๆ หนักเข้าก็จะเริ่มมีรอยบุ๋ม และแข็งไม่เคลื่อนที่ไปตามเต้านม

สรุป หากพบว่าผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉันแต่เนิ่นๆ ตรวจร่างกาย รวมทั้งทำ mammogram เป็นการ x-ray เพื่อ check เต้านม ทำปีละครั้ง ไปเรื่อยๆทุกปี

ด้วยความปรารถนาดี - คลินิกศัลยกรรม รพ.วิภาวดี 

แพทย์

นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์
แผนกศัลยกรรม

 

<