การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้ว แขน ขา ขาด

สำหรับผู้ที่ทำงานโรงงาน หรือเจ้าของโรงงาน ที่มีเครื่องมืออันตราย ควรอ่านเรื่องนี้นะคะ

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้ว แขน ขา ขาด

  1. ห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แล้วพันบริเวณเหนือแผลให้แน่นป้องกันเลือดออก ควรเป็นผ้าแผ่นกว้าง ๆ เช่น ผ้ายืด ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้
  2. สังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเสียเลือดมากให้นอนพัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหารทางปาก จิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน

การเก็บรักษาส่วนที่ขาด

  1. เอาสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น
  2. ใส่ในกระติกน้ำแข็ง ถุงพลาสติกใหญ่ใส่น้ำแข็ง (อุณหภูมิประมาณ 4 องศา C)
  3. รีบนำส่ง รพ. อวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. เพราะกล้ามเนื้อจะตาย ถ้าทิ้งไว้นานเกิน บริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ยังสามารถต่อได้
  4. ถ้านำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 2-3 ชม. สามารถรับนำส่งได้เลย ทาง รพ. สามารถจะเตรียมเก็บส่วนที่ขาด เพื่อทำการต่อได้

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา

  1. เพื่อประโยชน์ของคนไข้ ที่สามารถต่อนิ้วแล้วนำไปใช้ได้ดีกว่าไม่มีนิ้วหรือใช้นิ้วเทียม
  2. ส่วนของที่ขาด ยังมีเส้นเลือด และเนื้อเยื่อไม่ช้ำมาก เช่น ถูกมีดฟัน, ถูกเครื่องตัด
  3. การเก็บนิ้วที่
  4. องศา C ส่วนของแขน ขา ไม่เกิน 6 ชม., ส่วนของนิ้ว ภายใน 12-18 ชม., ส่วนของมือ ไม่เกิน 12 ชม. ถ้าไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง ต้องรีบนำส่ง รพ. ภายใน 2-3 ชม.

ข้อห้ามในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา

  1. ผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดรักษาได้ เช่น เป็นโรคหัวใจ, โรคปอด
  2. ส่วนของเนื้อเยื่อช้ำมาก เช่น ถูกเครื่องบด, ถูกเครื่องปั่น รัด ดึง ขาด ถูกทับขาด, ถูกระเบิดนิ้ว แขน ขา ขาด
  3. เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ส่วนที่ขาดตกไปในน้ำครำ หรือถูกสุนัข, สัตว์กัดขาด
  4. ส่วนที่ขาดไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง นานเกิน 6 ชม. หรือส่วนแขน ขา แม้เก็บที่ 4 องศา C แต่นานเกิน 6 ชม. การต่ออาจสำเร็จ แต่เสี่ยงต่อกล้ามเนื้อตาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายไหลกลับเข้ากระแสโลหิตเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ผู้ที่สูญเสียนิ้วไปแล้ว ต้อการผ่าตัดแก้ไข พิจารณาความต้องการของคนไข้และการใช้งานของมือที่เหลือ

  1. สูญเสียนิ้วหัวแม่มือ สมรรถภาพการทำงานของมือลดลง 40% การผ่าตัดสร้างนิ้วหัวแม่มือขึ้นมาใหม่ เช่น การย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนนิ้วหัวแม่มือ หรือการสร้างนิ้วหัวแม่มือ โดยต่อกระดูกให้ยาวขึ้น แล้วใช้ส่วนของผิวหนังเล็บจากนิ้วหัวแม่เท้ามาคลุมกระดูกต่อเส้นเลือด เส้นประสาท จะช่วยให้มีนิ้วหัวแม่มือที่มีรูปร่าง และความยาวใกล้เคียงกับนิ้วหัวแม่มือมาก
  2. การสูญเสียนิ้วมือทั้ง 4 นิ้ว เหลือนิ้วหัวแม่มือนิ้วเดียว สูญเสียการทำงานของมือ 60% การผ่าตัดย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนที่นิ้วที่ขาด 1-2 นิ้วจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น
  3. การสูญเสียนิ้วเพียงนิ้วเดียว หรือบางข้อ ไม่ช่วยให้การทำงานดีขึ้นมากนัก อาจจะไม่คุ้มค่ากับการผ่าตัดย้ายนิ้ว หรือสร้างนิ้วเพิ่มขึ้น

ข้อเขียนโดย
นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำ รพ.วิภาวดี

<