ความเสี่ยงจากการทำงานเกิดขึ้นจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในรูปแบบต่างๆตามลักษณะงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น
ดังนั้นการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงจึงถือเป็นการเฝ้าระวังความผิดปกติของสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการทำงานได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งประกอบด้วย
1.การตรวจร่างกายโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Physical Examination)
แพทย์จะทำการซักประวัติการทำงาน และตรวจร่างกายเพื่อค้นหาอาการและอาการแสดงที่สัมพันธ์กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การตรวจการทำงานของระบบประสาทในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับสารตัวทำละลาย การตรวจหาโรคผิวหนังอักเสบในผู้ที่ทำงานสัมผัสสารระคายเคือง และสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น
2.การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry)
ตรวจในผู้ที่ทำงานสัมผัสเสียงดัง โดยพบว่าในผู้ที่ทำงานสัมผัสเสียงดังนั้น การได้ยินที่เสียงความถี่สูงจะเริ่มแย่ลงก่อน จากนั้นถ้ายังสัมผัสเสียงดังต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง การได้ยินที่ความถี่เสียงพูดคุยจะแย่ลงตามมา(หูตึง)
การตรวจสมรรถภาพการได้ยินจะช่วยบอกถึงความสามารถในการได้ยินเสียงที่ความถี่ต่างๆ ดังนั้นจึงมีประโยชน์ในการช่วยคัดกรองความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้แต่แรกเริ่มจากการสัมผัสเสียงดัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะประสาทหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดังขึ้น
3.การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry)
การทำงานบางประเภทอาจต้องสัมผัสกับสารที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ผู้ที่ทำงานสัมผัสกับฝุ่นฝ้ายอาจมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือการทำงานสัมผัสสารบางประเภท(เช่น แป้งสาลี , สารจำพวก latex , isocyanate ) อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหอบหืดได้ เป็นต้น
การตรวจสมรรถภาพปอดจึงเป็นการคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจจากการสัมผัสสารต่างๆดังที่ได้ยกตัวอย่างมา
4.การตรวจสมรรถภาพสายตาทางอาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Vision Test)
เนื่องจากงานในแต่ละประเภทจำเป็นต้องใช้สมรรถภาพของสายตาที่แตกต่างกันออกไป เช่นพนักงานขับรถ อาจต้องใช้ความคมชัดของสายตาในการมองภาพระยะไกล การกะระยะความชัดลึก การมองภาพสี และลานสายตาที่ดีพอ ในขณะที่ผู้ที่ทำงานเจียระนัยเพชร พลอย อาจต้องใช้ความคมชัดของสายตาในการมองภาพระยะใกล้ที่ดี
การตรวจสมรรถภาพสายตาทางอาชีวเวชศาสตร์ จึงเป็นการตรวจเพื่อประเมินว่าสมรรถภาพสายตาของผู้เข้ารับการตรวจนั้นดีเพียงพอกับลักษณะงานที่ทำหรือไม่ เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวสามารถประเมินได้ถึง ความคมชัดของสายตาทั้งระยะไกลและระยะใกล้ ลานสายตา การกะระยะความชัดลึก การมองภาพสี ตลอดจนความสมดุลของกล้ามเนื้อตา
5.การตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarkers)
การทำงานในหลายๆกิจการล้วนต้องมีการสัมผัสสารเคมีประเภทต่างๆ เช่น สารโลหะหนัก(ตะกั่ว,สารหนู etc.),สารตัวทำละลาย(เบนซีน,โทลูอีน etc.),สารปราบศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณที่สูง อาจก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษจากสารเคมีต่างๆเหล่านั้น โดยเราสามารถตรวจระดับการรับสัมผัสสารนั้นๆว่าเข้าสู่ร่างกายสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่หน่วยงานต่างๆกำหนดไว้หรือไม่ด้วยการตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ ผ่านทางเลือดหรือปัสสาวะ ในรูปของสารนั้นโดยตรงหรือผ่านทางเมตาโบไลท์ของสารนั้นๆ
การตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ จะช่วยคัดกรองถึงระดับการรับสัมผัสสารนั้นๆเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังทางสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติจากการสัมผัสสารเคมีต่างๆเหล่านั้น
6.การตรวจอื่นๆ
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับรังสี การตรวจเอ็กซเรย์ปอด ในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับฝุ่นซิลิกา เป็นต้น
ในการตรวจสุขภาพ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะเป็นผู้แนะนำรายการตรวจที่เหมาะกับผู้ทำงานในแต่ละท่าน โดยดูจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากลักษณะงาน
หวังว่าอ่านบทความนี้แล้ว ทุกท่านคงหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเภทของงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ และช่วยให้ทุกท่านสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
น.พ.ณัฐพล ประจวบพันธ์ศรี
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์(วุฒิบัตร)
ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved