โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี
การบาดเจ็บข้อเข่า
ในปี 2004 มีคำถามจากผู้ที่อยู่ในวงการกอล์ฟว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ไทเกอร์ วู้ดส์ ผู้ซึ่งชนะ จาก 1999 – 2002 ในเมเจอร์มาแล้ว 7 ครั้ง และเป็น 4 ครั้งติดต่อกันซึ่งเรียกว่า Tiger Slam แต่ ไม่สามารถชนะในการแข่งขันอีกเลยเป็นเวลา 1 ปี
ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้เปลี่ยนโค้ชจาก Butch Hamon เมื่อต้นปี 2003 และปรับวงสวิงภายใต้โค้ชคนใหม่ Hank Haney ผู้คนสงสัยกันมากมายว่าไทเกอร์ วู้ดส์ จะมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกหรือไม่ รวมทั้ง Butch Hamon ด้วย
เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งที่ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้ปรับวงสวิงใหม่ เนื่องจากวงสวิงเดิมทำให้มีการปวดเจ็บที่เข่าซ้ายและหลังสิ้นสุดการแข่งขันปี 2002ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) พบว่ามีน้ำในข้อเข่าและมีการฉีกขาด ยืดออกของเอ็นไขว้หน้า (anterior crudite legaunt) เอ็นไขว้หน้ามีหน้าที่สำคัญที่จะรักษาไม่ให้กระดูกข้อเข่าเลื่อนออกจากกันไปในแนวหน้า - หลังและรักษาความมั่นคงของเข่าในการเคลื่อนไหวและเล่นกีฬา
ไทเกอร์ วู้ดส์ เขียนในหนังสือ How I play golf เมื่อต้องการเพิ่มระยะอีก 20 หลา จะใช้วิธีสะบัดขาซ้ายให้เหยียดตรง (Snap his left leg straight) แต่การเคลื่อนไหวใช้พลังโดยการหมุนสะโพกให้เร็วและหมุนขาซ้ายขณะที่งอเข่ารับน้ำหนัก และเหยียดตรงทันทีในขณะทำดาวน์สวิง ทำให้เกิดแรงบิดข้อเข่าซ้ายอย่างมาก ในปี 2002 ไทเกอร์ วู้ดส์ ให้สัมภาษณ์ Golf Digest magazine ว่ามีอาการเจ็บข้อเข่า ต้องกินยาแก้ปวดก่อนการเล่น และเวลาทำดาวน์สวิงควรพยายามเลี่ยงไม่ให้มีแรงกดบนข้อเข่ามากเกิน
เรามารู้จักเรื่องกายวิภาคของข้อเข่า ความมั่นคงของข้อเข่าและการบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าให้แข็งแรงและยืดเหยียดได้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
กายวิภาคของข้อเข่า
ข้อเข่า ประกอบด้วย กระดูกฟีเมอร์ (Femur) กระดูกทิเบีย (Tibia) กระดูกสะบ้าด้านหน้าข้อเข่า (Patella) บริเวณที่กระดูกทั้ง 3 ชิ้น สัมผัสกันจะมีผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน (Articular cartilage) คลุมอยู่และภายในข้อคลุมด้วยเยื่อบุข้อ (Synovial membrane)
ระหว่างผิวข้อกระดูกฟีเมอร์ และกระดูกทิเบีย มีหมอนรองข้อเข่ารูปร่างคล้ายตัว C รองอยู่ทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทรกบนผิวข้อเข่า และช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า และช่วยให้น้ำหล่อลื่นข้อเข่าไปเคลือบผิวข้อได้ดีขึ้น
ความมั่นคงของข้อเข่าขึ้นอยู่กับกระดูกฟีเมอร์และกระดูกทิเบีย ที่ประกอบเป็นข้อเข่าที่ยังมีลักษณะปกติไม่แตกไม่ทรุด หมอนรองกระดูกข้อเข่าและเอ็นที่ยึดข้อเข่า รวมทั้งกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ข้อเข่า
กล้ามเนื้อที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าที่ทำหน้าที่เหยียดข้อเข่า เรียก Quadriceps muscles และกล้ามเนื้อที่อยู่ต้นขาด้านหลัง เรียก Hamstring muscles ถ้าส่วนต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเสียไป หรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติก็จะเสียความมั่นคงของข้อเข่า
ความมั่นคงของข้อเข่า จากเอ็นใหญ่ 4 เส้น
1. เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament)
2. เอ็นเข่าด้านใน (Medial collateral ligament)
3. เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament)
4. เอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament)
เอ็นเข่าด้านนอก, ด้านใน ช่วยป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เอียงไปด้านข้าง
เอ็นไขว้หน้า ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนไปด้านหน้า
เอ็นไขว้หลัง ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนตกไปด้านหลัง
ภยันตรายที่เข่าบิดอย่างรุนแรงหรือภาวะที่ทำให้เข่าเคลื่อนมากกว่าปกติ เช่น ล้ม เสียหลัก ถูกกระแทรก เข่าเหยียดจนแอ่นไปทางด้านหลังหรือด้านข้างมากเกินไป จะทำให้เอ็นใหญ่ที่ยึดข้อเข่าฉีกขาดได้ อาจจะมีการฉีกขาดเพียงอันเดียวหรือหลายอัน หรือมีการบาดเจ็บร่วมกับผิวข้อแตก, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาดร่วมด้วยก็ได้
ความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็น แบ่งได้เป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 มีการฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเอ็น แต่เอ็นยังไม่ยึดหรือขาดให้เห็นชัดเจน
ระดับที่ 2 เอ็นฉีกขาดบางส่วน
ระดับที่ 3 เอ็นฉีกขาดแยกออกจากกันทั้งหมด
อาการและการตรวจพบ
โดยทั่วไปการบาดเจ็บข้อเข่าจากการเล่นกอล์ฟมักไม่ค่อยรุนแรง นอกจากจะมีการเสียหลักล้มเช่น ยืนตีในบริเวณพื้นที่ต่างระดับ มักพบมีการบาดเจ็บบริเวณเข่าซ้ายในนักกอล์ฟที่ตีด้วยมือขวา เพราะจะมีแรงบิดและรับน้ำหนักบนเข่าซ้ายค่อนข้างมาก
การบาดเจ็บที่รุนแรงจะพบได้บ่อยมากในกีฬาฟุตบอล, รักบี้, เทนนิส อาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น
ปวดบวมบริเวณข้อเข่า
กดเจ็บบริเวณที่เอ็นฉีก, บริเวณแนวข้อ ซึ่งเป็นตำแหน่งของหมอนรองข้อเข่า
เดินลงน้ำหนักไม่ได้หรือเดินแล้วปวดเสียวมากผิดปกติ
การงอเหยียดเข่าไม่ได้ เข่าติดในท่าใดท่าหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกิดหมอนรองข้อเข่าขาดไปขวางในข้อ
รู้สึกเข่าบวมหรือเกผิดรูป อาจเกิดจากเอ็นใหญ่ขาดหรือกระดูกแตก
การตรวจพบทางด้านการแพทย์
1. ตรวจน้ำหรือเลือดออกในข้อเข่า ซึ่งจะพบภายในข้อเข่าบวมมาก
2. ตรวจความมั่นคงด้านข้างข้อเข่า
3. ตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า
4. ตรวจการเคลื่อนไหว, หมุนเข่า เพื่อดูว่าหมอนรองข้อเข่าขาดหรือไม่
รูปที่ 3 การตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า ในท่านอนหงายงอเข่า 90 องศา
ถ้าดึงกระดูกใต้เข่าเลื่อนมาข้างหน้าได้แสดงถึงเอ็นไขว้หน้าขาด ถ้ากดกระดูกใต้เข่าเลื่อนลงไปข้างหลังได้ แสดงถึงเอ็นไขว้หลังขาด
เอ๊กซเรย์ข้อเข่า
เพื่อดูว่ามีลักษณะกระดูกหัก ข้อเคลื่อนหรือไม่
การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic surgery)
เป็นการตรวจภายในข้อเข่า จะได้การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการฉีดยาเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลังเพื่อให้ส่วนล่างของร่างกายชา ผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดรักษาได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ใช้แผ่นรัดห้ามเลือดบริเวณต้นขา เพื่อที่ไม่ให้เลือดออกมากระหว่างการผ่าตัดรักษา
เจาะรูบริเวณด้านหน้าเข่าชิดกับเอ็นลูกสะบ้า ใส่ท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 มิลลิลิตร ซึ่งมีเลนส์และท่อนำแสงส่อเข้าไปในข้อเข่าสามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า โดยต่อภาพเข้ากับจอทีวีได้ ซึ่งจะเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า จะเป็นภาพขยายจากของจริงประมาณ 5 ถึง 10 เท่า สามารถจะอัดเป็นภาพวีดีโอ เพื่อมาดูภายหลังการผ่าตัดได้
รูปที่ 4 การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตรวจดูความผิดปกติในข้อเข่า
ในการตรวจโดยวิธีส่องกล้อง จะเห็นพยาธิสภาพต่าง ๆ ในข้อเข่า เช่น ผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน, เอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลัง, หมอนรองข้อเข่า, เยื่อบุข้อ เพื่อพบพยาธิสภาพหรือการผิดปกติก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ เช่น การทำผิวข้อให้เรียบ การเอาส่วนของหมอนรองข้อเข่าขวาออกรวมทั้งการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลังได้
การรักษาหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยจะได้รับการพันเข่าด้วยสำลีหนา ๆ แล้วรัดด้วยผ่ายืดให้แน่นเพื่อไม่ให้บวมประมาณ 3 – 4 วันหลังจากนั้น ให้ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าได้
การบริหารกล้ามเนื้อ, การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด
1. หลังจากแผลหายดี ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อเหยียดหัวเข่าได้
2. เริ่มบริหารโดยไม่รับน้ำหนักที่เข่า เช่น การวายน้ำ, การขี่จักรยาน
3. การบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนัก (Weight training)
การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Quadriceps)
ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหนาให้มากที่สุดนาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Hamstrings)
ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้นตัวไปข้างหลังและข้างหน้ารู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด นาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง
การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
กล้ามเนื้อ Quadriceps
นั่งเก้าอี้สูง งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย, ยางยืด
กล้ามเนื้อ Hamstrings
นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า หรือแรงต้านจากยางยืด
ข้อแนะนำสำหรับท่านนักกอล์ฟ
• ควรออกกำลังกายเป็นการอุ่นเครื่องให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น และข้อเคลื่อนไหวคล่องตัวก่อนการเล่นกอล์ฟ
• เริ่มออกกำลงกายอย่างช้า ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
• ไม่ควรออกกำลังกายจนเกินขีดความสามารถ หรือเกิดอาการบาดเจ็บ
• ควรออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ
• การเล่นกอล์ฟควรเล่นในขอบเขตความสามารถของตัวเอง โดยคำนึงถึงเวลา (time) จังหวะ (tempo) และความสมดุล (balance) เป็นหลัก ซึ่งจะลดการบาดเจ็บของร่างกายได้มาก
• ถ้าท่านมีการบาดเจ็บในข้อเข่า ทำให้เดิน เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved