ใช้ชีวิตให้ห่างไกล “กรดไหลย้อน”
พญ. ดวงพร โชคมงคลกิจ
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี
ชีวิตประจำวันของคุณเต็มไปด้วยความเร่งรีบ อาจทำให้คุณกินอาหารไม่เป็นเวลาและเข้านอนโดยไม่รอให้ย่อย นิสัยเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
กรดไหลย้อนทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปาก จุก เสียด แน่น เรอ มักเป็นหลังจาก หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่
อาหารจะผ่านการย่อยทางปากก่อน และผ่านหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร ช่วงที่ปลายหลอดอาหารกล้ามเนื้อหูรูด ปิดทางไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารอีก โรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดทำงานผิดปกติ หย่อนตัว และเปิดทางให้กรดในกระเพาะไหลกลับไปยังหลอดอาหารจนมีอาหารขย้อนไปยังลำคอ ช้าๆ
ถ้าไม่ได้รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลในหลอดอาหาร มีเลือดออก หลอดอาหารตีบ จนกลืนอาหารลำบาก และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
“เรามาฝึกนิสัยเพื่อให้คุณห่างไกลโรคกรดไหลย้อนกันดีกว่าค่ะ”
1. กินอย่างถูกสุขลักษณะ
ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง และอย่าให้แต่ละมื้อผ่านไปอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการลุกเดินหลังมื้ออาหาร นั่งนิ่งๆ หลีกเลี่ยงการนอนราบทันที เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารย่อยช้า
โดยเฉพาะมื้อเย็นและทิ้งเวลาให้ย่อยอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะหากอาหารไม่ย่อยแล้วนอน เป็นผลให้กระเพาะกับหลอดอาหารอยู่ในแนวราบเดียวกัน กรดในกระเพาะจะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้
2 . ควบคุมน้ำหนัก
ไขมันใต้ผิวหนังรอบหน้าท้องและไขมันในช่องท้องมีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้องให้มากขึ้น จนบีบกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย ยิ่งน้ำหนักมากยิ่งมีโอกาสเลี่ยงสูง ดังนั้นควบคุมน้ำหนักให้มาตรฐาน และบริหารรอบเอวเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมันสะสม
3 . ใส่ใจอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน
หลีกเลี่ยง อาหารรสจัด เปรี้ยว เผ็ดเกินไป ของมัน ของทอด และอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์ ทำให้หูรูดหลอดอาหารทำงานผิดปกติหรือคลายตัว และเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อน เครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม ทำให้ท้องอืด ลมในท้อง เป็นต้น
4 . งดดื่มสุราและสูบบุหรี่
ทั้งสารนิโคตินในบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบของและกระเพาะอาหาร
5. หลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดอาจไม่ได้มีผลโดยตรงต่อโรคกรดไหลย้อน แต่ถ้ามีอาการอยู่แล้ว ความเครียดจะทำให้อาการกำเริบได้ง่ายขึ้น
6 . สวมใส่เสื้อผ้าให้สบาย
การใส่เสื้อผ้าคับมีผลให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้นและดันให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร ดังนั้นพยายามสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย ป้องกันอาหารแน่นท้องหลังมื้ออาหาร
7 . ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารทันที เพราะกระเพาะอาหารอาจย่อยไม่เป็นปกติ ควรเว้นระยะให้อาหารย่อยอย่างน้อย 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
ลองนำทั้ง 7 วิธีนี้มาปฏิบัติให้เป็นนิสัยแล้วคุณจะห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อน
พญ. ดวงพร โชคมงคลกิจ
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved