ภาวะรังไข่หยุดการทำงาน ก่อนวัยอันควร
รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร เป็นกลุ่มอาการที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี โดยจะมีอาการซึ่งประกอบด้วย การขาดระดู การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในระดับต่ำ และมีฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) อยู่ในระดับที่พบในสตรีวัยหมดระดู
พบภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ประมาณ 1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 40 ปี, 0.1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และ 0.01% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี
สาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร
- สาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซม และพันธุกรรม ประมาณ 20-30% ของสตรีเป็นภาวะนี้ จะมีญาติเป็นด้วย สาเหตุตามพันธุกรรมที่พบบ่อยสุดของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร คือ Turner syndrome ซึ่งจะมีการพัฒนาของรังไข่เป็นปกติ ขณะเป็นทารกในครรภ์ แต่จะมีการฝ่อของฟองไข่อย่างรวดเร็ว ทำให้หยุดทำงานเร็วกว่าคนทั่วไป (ตั้งแต่เป็นเด็ก)
- สาเหตุจากการมีภูมิต้านทานของตนเอง เช่น โรคภูมิต้านทานตนเองของต่อมไทรอยด์ (autoimmune thyroid disorder) SLE เบาหวาน พบได้ประมาณ 10-30% ภาวะนี้บางรายสามารถกลับมาปกติได้
- สาเหตุรังไข่หยุดทำงานภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดบริเวณรังไข่หลายครั้ง อาจทำให้จำนวนฟองไข่ลดลงจากการตัดเนื้อรังไข่เอง หรือ การอุดตันเส้นเลือดฝอยรอบ ๆ ที่มาเลี้ยงรังไข่ หรือ การอักเสบบริเวณดังกล่าว ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้
- รังสีรักษา, เคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา เป็นสาเหตุของภาวะ POF ได้ โดยผลของรังสีขึ้นกับขนาดของรังสีที่ได้รับ อายุผู้ป่วย บริเวณที่ได้รับรังสี การให้ยาเคมีบำบัด ก็มีผลต่อ การทำงานของรังไข่ โดยขึ้นกับชนิดของยา, ขนาดของยาที่ได้รับ และอายุของผู้ป่วย
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสูบบุหรี่ จะมีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และยังเป็นพิษต่อเซลล์ต้นกำเนิดของรังไข่ด้วย ยาฆ่าแมลง, สารละลาย และโลหะหนักบางชนิด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด POF
- การติดเชื้อ เช่น คางทูม, วัณโรค, มาเลเรีย พบว่ามีรายงานการเกิดภาวะรังไข่ หยุดทำงานก่อนวัยอันควรได้
- ไม่ทราบสาเหตุ
อาการ
จะมีอาการขาดระดู และมีอาการของวัยหมดระดูในบางราย เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน เมื่อยล้า อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
การรักษา
- การให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจและคำปรึกษา (Emotional support and counseling) ผู้ป่วยภาวะนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจสูง เสียความมั่นใจตนเอง และจะมีผลต่ออารมณ์ทางเพศ และการดำเนินชีวิต และจะมีผลในแง่การเสียโอกาสในการมีบุตร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้า และหดหู่มากขึ้น ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจ จึงมีความสำคัญมาก
- การให้ฮอร์โมนทดแทน ในสตรีที่อายุน้อย จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยเหลือเรื่องของอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ภาวะกระดูกพรุน ระยะเวลาการให้ จะให้จนถึงอายุเฉลี่ยของสตรีที่หมดระดูตามปกติ ในบางรายที่มีปัญหาเรื่องการไม่มีความต้องการทางเพศ อาจจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ด้วย
- การรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตร ผู้ป่วยภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร จะมีประมาณ 5-10% สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยการใช้ยา
กระตุ้นไข่ ด้วยสเตียรอยด์ ร่วมกับ โกนาโดโทรปิน (gonadotropin) และบางรายยังสามารถตั้งครรภ์ได้ จากการตกไข่เองซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางครั้ง
ถ้าไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นไข่ อาจใช้ไข่บริจาคเป็นทางเลือกในการช่วยมีบุตร
โดย นพ.ชัยสึก จิวะธนะพร และ ทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและ ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี